สิงห์บุรี
Singburi .org


โครงการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงหนองเจ็ดเส้น จังหวัดอ่างทอง

"หนองเจ็ดเส้น" แหล่งน้ำลือชื่อของจังหวัดอ่างทอง ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ พืชผักหลากหลายจนกระทั่งเป็นแหล่งขายส่งผักที่สำคัญ ตลอดจนมีปลาแม่น้ำต่างๆ มากมาย
"หนองเจ็ดเส้น" เกิดขึ้นมานาน มีความกว้างใหญ่ตามชื่อที่ตั้งไว้ อยู่ใกล้หลวงพ่อทวดองค์โตที่สร้างไว้อย่างสวยงาม ตั้งสูงตระหง่าน สะดุดตาประชาชนที่นั่งรถผ่านไปมาริมถนนสายเอเชียในเขตพื้นที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง หลังจากที่ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นโครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้หนองน้ำที่ชื่อ "หนองเจ็ดเส้น" ที่หลายคนรู้จักนี้มีความสำคัญและอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำที่ไหลจากรอบด้าน ด้วยภูมิทัศน์ที่งดงามและมีนกต่างๆ บินเวียนว่อนมากมาย ที่เห็นชินตา คือนกกระยางสีขาวผ่องยืนจ้องหาเหยื่อกลางท้องนา แม้ยามแดดเปรี้ยง ทำให้เกิดบรรยากาศในบริเวณนี้น่าตื่นตาตื่นใจ สายน้ำหนองเจ็ดเส้น ใครที่แวะเวียนไปสัมผัสจะรู้สึกร่มรื่น น่าท่องเที่ยว น่าพักผ่อน
แหล่งน้ำแห่งนี้สามารถสร้างอาชีพได้มากมายและหลากหลาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การทำนา" ในหลายพื้นที่ที่สืบทอดกันมา ใครที่ยังไม่มีโอกาสไปเยี่ยมเยียน "หนองเจ็ดเส้นฯ" ที่ครั้งหนึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเพื่อทรงเปิดโครงการแหล่งน้ำแห่งนี้ ให้ประชาชนได้ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการทำนาและปลูกพืชต่างๆ


ในพื้นที่นากว้างขวาง มองสุดลูกหูลูกตา วันนี้ใครจะลองเดินทางไปเยี่ยม ไปชม ไปนมัสการหลวงพ่อทวดแล้วเลยไปสัมผัสกับความร่มรื่นจากธรรมชาติ
จะได้เห็นการพัฒนาแหล่งน้ำ "หนองเจ็ดเส้นฯ" ที่นอกจากจะเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอาชีพของประชาชนแล้ว ยังเกิดประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวสำหรับผู้ต้องการเห็นบรรยากาศของธรรมชาติอันแท้จริง
โดยเฉพาะบรรดานกต่างๆ มากมาย ที่บางเวลาจะบินโฉบเฉี่ยว เวียนว่อนเป็นทิวแถวอย่างมีความสุขและสวยงาม รวมทั้งเวลาไถนา
ที่ขณะนี้แม้ชาวนาส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้ควายไถนาเช่นครั้งอดีตก็จะยังคงเห็นฝูงนกต่างๆ บินหรือเดินตามเพื่อหาอาหารกันขวักไขว่สร้างความเพลิดเพลินตาและเพลิดเพลินใจแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก
ถือเป็นความสุขจากธรรมชาติที่คงหาไม่ได้ในเมืองอย่างแน่นอน แม้ว่าจะมีการสร้างเลียนแบบในชุมชนเมืองบางแห่งก็ตามและพื้นที่นี้อยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯกี่มากน้อยด้วย

"หนองเจ็ดเส้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ถือเป็นพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ดังนั้นเวลาหน้าน้ำหลากก็จะมีน้ำท่วมขังในพื้นที่นี้อยู่เสมอ จังหวัดอ่างทอง จึงได้เสนอไปยังมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อพัฒนา "หนองเจ็ดเส้น" ให้เป็นโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ เพื่อบริหารจัดการน้ำในเวลาน้ำหลากให้เกิดความเหมาะสม โดยให้มีน้ำเพื่อใช้ในช่วงหน้าแล้งอย่างพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ดังความตอนหนึ่งในเรื่องของโครงการแก้มลิงในการบริหารจัดการน้ำ ตามพระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ว่า
"...ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงก็จะรีบปอกเปลือกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยวๆ แล้วเอาไปเก็บที่แก้ม จะกินกล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปเก็บไว้ที่แก้ม ก่อนจะนำออกมาเคี้ยวและกลืนกินเข้าไปในภายหลัง ด้วยพฤติกรรมการนำเอากล้วยหรืออาหารมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนการกลืนนี้ จึงเป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง..."




ขณะนี้ "โครงการแก้มลิงหนองเจ็ดเส้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" มีการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมทั้งการสร้างระบบกระจายน้ำ เพื่อการใช้ประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่รอบโครงการแก้มลิงหนองเจ็ดเส้นฯ เรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่ไร่นาของราษฎรรอบๆ โครงการเพื่อใช้ประโยชน์ในช่วงหน้าแล้งเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะ การทำนาปรังที่ต้องใช้ปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ส่งผลให้ระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นถึงความพออยู่พอกิน ไม่ฟุ้งเฟ้อ และการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย สร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงในครอบครัว
นายบุญสืบ ชูชีพผู้ใหญ่บ้านที่เป็นเกษตรกรผู้ที่ได้ใช้น้ำจากโครงการนี้สร้างประโยชน์จากการทำนาที่เป็นอาชีพหลักได้ กล่าวว่า
"โครงการหนองเจ็ดเส้นฯแห่งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค ๒ สระบุรี ได้เข้ามาจัดสร้างระบบกระจายน้ำหลายแห่งเพื่อให้สามารถกระจายน้ำจากหนองเจ็ดเส้นไปยังพื้นที่นาต่างๆจำนวนมาก สร้างความดีใจแก่เกษตรกรในย่านนี้ที่มีจำนนมาก โดยมีผู้ที่ได้รับประโยชน์กว่า ๒๗๐ ครัวเรือน พื้นที่ประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าไร่ ส่วนใหญ่จะทำนากันทั้งนั้น หลังจากที่มีโครงการแก้มลิงหนองเจ็ดเส้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้แล้ว ช่วยในการเก็บกักน้ำในขณะที่น้ำหลากจากทั่วทุกทิศในช่วงหน้าฝนและช่วยอย่างมากในช่วงหน้าแล้งที่พื้นที่อื่นแห้งแล้ว แต่ที่นี่จะมีน้ำเก็บกักในพื้นที่โครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่บริเวณนี้ในการทำนาปรังได้แน่นอน รวมทั้งการนำน้ำไปใช้ในกิจกรรมอื่นตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สามารถทำได้อย่างสบายครับ ตามความขยันของเกษตรกรในพื้นที่..."