top of page
2019073194070e943707c2e4f4f2f7190766261a105633.jpg

วัดโบสถ์ อำเภอสามโก้  จังหวัดอ่างทอง

       วัดโบสถ์ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ภายหลังเป็นวัดร้างมีสภาพทรุดโทรมต่อมาได้รับการบูรณะใหม่เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๕ อุโบสถเก่าแก่สมัยอยุธยาและมีรูปแบบทรงมหาอุดที่ชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียงให้ความนับถือได้รับการซ่อมแซมจนรูปแบบผิดแผกไปจากเดิมรวมทั้งซุ้มประตูและกรอบหน้าต่างทำให้ไม่เหมือนลักษณะการตกแต่งใด ๆ คงเหลือแต่เพียงประตูทางเข้าด้านหน้า ๑ ช่อง และหน้าต่างด้านละ ๒ ช่อง 

ซึ่งพอจะยืนยันได้ว่าเป็นรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยา รอบอุโบสถมีใบเสมาหินทรายคู่อยู่ในซุ้มตามแบบศิลปะจีน สิ่งที่หน้าสนใจของวัดนี้คือ คือ พระปรางค์ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถที่ยังเป็นของเดิม แต่เนื่องจากไม่ได้มีการบูรณะซ่อมแซมจึงทรุดโทรมมากจนไม่อาจศึกษารูปแบบได้ แต่จากโครงสร้างที่ยังคงเหลืออยู่ สังเกตได้ว่าลักษณะของพระปรางค์องค์นี้เหมือนกับพระปรางค์ที่สร้างในสมัยอยุธยาทั่วไป เรือนธาตุเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบหก มีซุ้มนำยื่นออกมาทั้งสี่ทิศ ด้านตะวันออกเจาะเป็นช่องคูหาขนาดใหญ่ แต่มีคนลักลอบขุดจนชำรุดทรุดโทรมมาก นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปหินทรายสีแดงและเทาจำนวนมาก มีขนาดหน้าตักกว้างตั้งแต่ ๐.๓๐-๑.๐๐ เมตร จากศิลปะที่ปรากฏบนองค์พระพอประมาณอายุได้ว่าอยู่ในราวต้นพุทธ-ศตวรรษที่ ๒๑ และพุทธศตวรรษที่ ๒๒

  อำเภอสามโก้ อยู่ห่างจากจังหวัดอ่างทองประมาณ ๒๕ กิโลเมตร แม้เป็นอำเภอเล็ก ๆ ซึ่งเดิมเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอวิเศษชัยชาญ ได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอและเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ ความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ปรากฏในพงศาวดารว่า เป็นเส้นทางที่พม่าเดินทัพจากด่านเจดีย์สามองค์ผ่านเข้ามาตั้งค่ายพักแรมก่อนเข้าตีกรุงศรีอยุธยา และเป็นที่ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถเคยเสด็จนำทัพหลวงผ่านบ้านสามโก้แห่งนี้เพื่อทรงทำสงครามยุทธหัตถี ที่ตำบลตระพังตรุ จังหวัดสุพรรณบุรี จนทรงได้รับชัยชนะด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน สามโก้เป็นอำเภอที่น่าสนใจมากอำเภอหนึ่งในแง่ประเพณี และศิลปะพื้นบ้าน กล่าวคือ สามโก้มีพื้นที่การเกษตรบางส่วนที่เปลี่ยนจากพื้นที่ทำนาเป็นพื้นที่ทำการเกษตรด้านอื่น เช่น การทำนาบัว การทำสวนมะพร้าวพันธุ์ดี และการทำไร่นาสวนผสม ซึ่งเกษตรกรรู้จักพัฒนาอาชีพด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตรให้มีทั้งคุณภาพและปริมาณจนสามารถทำรายได้เป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้สามโก้ยังเป็นถิ่นของเพลงพื้นเมืองที่มีพ่อเพลงและแม่เพลงที่มีบทบาทในการฟื้นฟูการละเล่นและอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านอีกด้วย

bottom of page