top of page
P1400770.JPG

วัดป่าโมกวรวิหาร  จังหวัดอ่างทอง

        วัดป่าโมกวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง อยู่ในเขตเทศบาลตำบลป่าโมก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกห่างจากอำเภอ เมืองอ่างทอง 18 กิโลเมตร  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของประเทศไทย มีความยาวจากพระเมาลี ถึงปลายพระบาท ๒๒.๕๘ เมตรก่ออิฐถือปูนปิดทอง องค์พระนี้สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยสุโขทัยมีประวัติความ เป็นมาน่าอัศจรรย์ เล่าขานมาว่าได้ลอยน้ำมาจม 

         อยู่หน้าวัดราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาไว้ที่ริมฝั่ง แม่น้ำ  นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับองค์พระพุทธไสยาสน์ว่าเป็น พระพุทธรูปพูดได้โดยมีการจารึก โดยผู้บันทึกก็คือ พระครูปาโมกข์มุนี เจ้าอาวาสวัดป่าโมก พระพุทธไสยาสน์องค์นี้มีความเก่าแก่คู่กัน มากับวัด มีขนาดใหญ่โตและงดงามมากตำนานเรื่องพระนอนพูดได้ที่วัดป่าโมกวรวิหาร
เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์โรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดในบ้านป่าโมกตามลิขิต ของพระครูป่าโมกขมุนี เจ้าอาวาสวัดป่าโมกวรวิหารในสมัยนั้นได้บันทึกไว้ พอสรุปได้ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ พระโต พระในวัดป่าโมก ป่วยหนักด้วยโรคอหิวาต์ หมอที่ไหนก็รักษาไม่หาย ขณะนั้นอุบาสิกาเหลียน หลานสาวของพระโตซึ่งอยู่ที่บ้านเอกราช แขวงป่าโมก ก็จนปัญญาจะไปหาหมอยามารักษาพระโต ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของสีกาเหลียน สีกาเหลียนจึงมาตั้งสัตยาธิษฐานต่อพระพุทธไสยาสน์ และมีเสียงออก มาจาก พระอุระของพระพุทธไสยาสน์บอกตำรายาแก่สีกาเหลียน แล้วจึงนำใบไม้ต่าง ๆ ที่ว่าเป็นยามาต้มให้พระโต ที่อาพาธฉันพระโตก็หายเป็นปกติ

จากนั้นสีกาเหลียนจึงนำเหตุอัศจรรย์มาแจ้งต่อพระ ครูปาโมกขมุนีและพระที่วัดป่าโมกแต่พระครูป่าโมกขมุนียังไม่เชื่อ จึงได้ให้พระสงฆ์ โยมวัด และศิษย์วัดรวม ๓๐ คน โดยมีสีกาเหลียนไปด้วย พระครูป่าโมกขมุนีให้จุดไฟรอบวิหารพระนอนเพื่อดูว่ามีใครมาทำโพรงหลัง พระนอน แล้วแอบซ่อนมาพูดกับสีกาเหลียนหรือไม่ แต่พระสงฆ์และโยมวัดก็ไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ ทั้งสิ้น วันต่อมาสีกาเหลียน พระครูปาโมกขมุนี พระสงฆ์และโยมวัดรวม ๓๐ คน มากันเข้ามาในวิหารพระนอน สีกาเหลียนจุดธูปเทียน และถวายหมากพลูแก่ พระพุทธไสยาสน์ ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ หมากพลูที่สีกาเหลียนถวายหายไปในเวลา ๒ นาที พระครูปาโมกขมุนีและพยานทั้งหลาย ประสบกัยเหตุอัศจรรย์ แต่ก็ยังไม่เชื่อ สีกาเหลียนจึงได้อาราธนาพระพุทธไสยาสน์ให้พูดคุยกับพระครูปาโมกขมุนี ปรากฏว่าก็เกิดเสียง จากพระอุระของพระพุทธไสยาสน์อีก โดยในวันนั้น พระครูปาโมกขมุนีได้ไต่ถามพระพุทธไสยาสน์เกี่ยวกับสารทุกข์สุกดิบและเครื่องยา ที่รักษาผู้ป่วยโรคอหิวาต์ พระพุทธไสยาสน์ก็ตอบคำถามที่พระครูปาโมกขมุนีถามทุกประการต่อมาใน วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่อเวลา ๔ ทุ่ม สีกาเหลียน พระครูป่าโมกขมุนี พระสงฆ์และโยมวัด รวมแล้วมีทั้งหมด ๓๕ คน ได้เข้าไปตรวจดูในวิหารพระนอนอีกครั้ง ก็ไม่พบพิรุธใด ๆ ทั้งสิ้น สีกาเหลียนจึงบอกกล่าวกับพระพุทธไสยาสน์ว่า 

พระครูป่าโมกขมุนีอยากคุยด้วยอีก ก็เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ ขึ้นอีกครั้ง คราวนี้พระครูปาโมกขมุนีได้ได้ถามพระพุทธไสยาสน์ว่าจะบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระ และวิหารขึ้นใหม่ ก็บังเกิดเสียง ตอบรับมาจากพระอุระของพระนอนอีก โดยพระพุทธไสยาสน์เกิดความยินดีที่พระครูป่าโมกขมุนีจะบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระนอน และวิหาร พระครูปาโมกขมุนีจึงได้เขียนจดหมายนี้เพื่อถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ ๖) แต่พระองค์มิได้ เสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น จึงยังมิได้ถวายจดหมายเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าหลวง(รัชกาลที่ ๕) แวะมานมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก ได้ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า"มีอำแดงคนหนึ่งไปบอกหลวงพ่อพระนอน ขอให้ช่วยรักษาลุงซึ่งป่วย พระนอนนั้นบอกตำรายา แต่มิได้ตอบทางพระโอษฐ์เสียงก้องออกมาจากพระอุระ พระครูไม่เชื่อจึงได้ลองพูดดูบ้าง ก็ได้รับคำตอบทักทายเป็นอันดี แต่นั้นมา พระครูได้รักษาไข้เจ็บป่วยด้วยยานั้น เป็นอะไรๆ ก็หาย ห้ามมิให้เรียกขวัญข้าวค่ายา นอกจากหมากคำเดียว"

สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้นอกจากพระพุทธไสยาสน์แล้วยังมี วิหารเขียนซึ่งเล่ากันว่า ผนังวิหารด้านที่หันออกสู่แม่น้ำมีแท่นสูงเข้าใจว่าเป็นแท่น ที่เคยมีกษัตริย์เสด็จประทับยืนบริเวณนั้น มณฑปพระพุทธบาท ๔ รอย หอไตร เป็นต้น
 

งานนมัสการพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกซึ่งจัดขึ้นปีละ ๒ ครั้ง คือ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำเดือน ๔ ช่วงหนึ่ง และอีกช่วงหนึ่งระหว่างขึ้น ๑๒ – ๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี

การเดินทางไปวัดป่าโมกวรวิหาร
จากอำเภอเมืองอ่างทองไป ๑๘ กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๓๐๙ สายอ่างทอง-อยุธยา กิโลเมตรที่ ๔๐ แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒๙ จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๕๐๑ จะเห็นป้ายทางไปวัดป่าโมก 

bottom of page